๒๒ กันยายน ๒๕๕๐

ประวัติกรีฑาในประเทศไทย

การเล่นกรีฑาในประเทศไทยริเริ่มโดยครูฝรั่งชาวอังกฤษนำมาสอนให้นักเรียนไทยได้ฝึกเล่นกันในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วค่อยเจริญแพร่หลายขึ้นหลังปี พ.ศ.2440 เป็นต้นมา
การเล่นกรีฑาเริ่มเป็นทางการขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปและเมื่อเสด็จนิวัติคืนสประเทศไทย ทางราชการโดยมอบหมายให้ กระทรวงธรรมการ ครู นักเรียนรวมถึงประชาชนได้จัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนและประชาชน โดยได้จัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง (ทุ่งพระสุเมรุ) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 และตั้งแต่นั้นมาก็จัดเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาโดยตลอด
ปี พ.ศ.2476 รัฐบาลตั้งกรมพลศึกษาขึ้น กรมพลศึกษามีนโยบายส่งเสริมการกีฬาและการกรีฑาของชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น หลังจากตั้งกรมพลศึกษาขึ้นแล้ว กีฬาและกรีฑาได้ก็รับการสนับสนุนจัดให้มีการแข่งขันหลายประเภท เช่น กรีฑาระหว่างโรงเรียน กรีฑาระหว่างมหาวิทยาลัย และกรีฑาระหว่างประชาชน
ปี พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดตั้งสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการแข่งขัน กรีฑาประเภทมหาวิทยาลัยและประชาชนแทนกรมพลศึกษา และในปีนี้เองประเทศไทยก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑาโลก
ปี พ.ศ. 2504 ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้น มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมกีฬาประชาชน โดยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาทุกๆปีหมุนเวียนกันไปในแต่ละจังหวัด ในการแข่งขันกีฬาเขต (กีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน) และถือว่ากรีฑาเป็นกีฬาหลักที่ต้องมีการแข่งขันทุกครั้ง
ปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเข้าอยู่ในพราะบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ. 2528 มีการเปลี่ยนชื่อจากองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยเป็น "กีฬาแห่งประเทศไทย" ประวัติงานกรีฑานักเรียนประจำปี
วันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เป็นวันที่บรรดานักเรียนในกรุงเทพฯได้กราบบังคมทูลอันเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาในที่ประชมุนักเรียนในกรุงเทพฯ ณ ท้องสนามหลวง เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จกลับมาจากยุโรป ซึ่งต่อมากระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ได้ทำการจัดการแข่งขันเป็นงานประจำปี และจัดควบกันไปในวันเดียวกับวันรับประกาศนียบัตรของนักเรียน
การแข่งขันกรีฑาในสมัยนั้นมีหลายประเภท เช่น วิ่งแข่งขันระยะ 2 เส้นระยะทาง 10 เส้น กระโดดไกลกระโดดสูง แข่งขันจักรยาน ขว้างไกล วิ่งสวมกระสอบ วิ่งสามขา การแข่งขันดังกล่าวประเภทมีเหรียญและหนังสือเป็นรางวัล
ปี พ.ศ. 2444 ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาที่สนามโรงเลี้ยงเด็กหน้าโรงเรียนสวลี และได้เพิ่มการแสดงฝีมือด้วย ต่อมาการแข่งขันกรีฑานักเรียนได้ว่างเว้นมาหลายปี
ปี พ.ศ. 2447 อธิบดีกรมศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาโรเงรียนวันที่ 1 และ 2 มกราคมมีสูจิบัตรสำหรับการแข่งขันด้วยเป็นครั้งแรก โดยแบ่งเป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันแข่งขันฟุตบอลคู่สุดท้ายที่ท้องสนามหลวง และวันที่ 2 มกราคม เป็นวันแข่งขันกรีฑาโรงเรียนที่สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกหลาบในปัจจุบัน) ดังที่กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลในการแข่งขันดังนี้
เริ่มการแข่งขันเวลาบ่ายโมง การแข่งขันกรีฑาได้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ
ภาค 1 การแสดงกายบริหารมี โหนราว ไต่บันไดโค้ง หกคะเมนบนม้า หกคะเมนไม้เดี่ยว เล่นห่วง เล่นชิงช้า และจัดแถว
ภาค 2 เป็นการประกวดกำลังมีชักเย่อ กระโดดสูง วิ่งข้ารั้ว วิ่งเก็บของกระโดดไกล วิ่งระยะทาง 2 เส้น วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทนระยะทาง 10 เส้น ปิดตาหาทาง วิ่งสามขา และวิ่งวิบาก
ปี พ.ศ. 2463 ได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งและแสดงวิชามวยไทย
ปี พ.ศ. 2464 ได้จัดให้มีการแสดงวิชาฟันดาบไทย ดาบฝรั่ง
ปี พ.ศ. 2470 กระทรวงธรรมการได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า "กรมการจัดการกีฬาประจำปีของ>กระทรวงธรรมการ" เลือกจากอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่โรงเรียนต่างๆแต่งตั้งเป็นกรรมการเป็นปีๆไป กรรมการคณะที่มีหน้าที่เป็นผู้จัดการกีฬาต่างๆของกระทรวงธรรมการทุกอย่างเฉพาะในจังหวัดพระนครและธนบุรี ส่วนภูมิภาคเป็นหน้าที่ของกรรมการจังหวัด
ปี พ.ศ. 2478 ได้เพิ่มประเภทการแข่งขันกีฬาโรงเรียนให้มีมากขึ้นรวมทั้งเพิ่มสถานที่แข่งขันด้วย ส่วนการแข่งขันกรีฑาประจำปีได้ใช้สนามโรงเรียนหอวัง (กรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน) และเพื่อเป็นการควบคุมการแข่งขันและนักกีฬา กรมพลศึกษาได้ออกกฎระเบียบควบคุมมารยาทนักกีฬา โดยมีคณะกรรมการสอดส่องมารยาทนักกีฬาขณะแข่งขัน กับได้วางระเบียบในการให้รางวัลผู้มีฝีมือในการแข่งขัน โดยมีรางวัลเป็นลำดับดังนี้
- เสื้อสามารถ
- หมวกสามารถ
- เข็มสามารถส่วนกรรมการที่มีความรู้ความสามารถในการตัดสินนั้นกรมพลศึกษาได้จัดแหนบให้เป็นเครื่องสมนาคุณ
ปี พ.ศ. 2479 ได้เปิดการแข่งขันกรีฑาขึ้นเป็นครั้งแรกในพระบรมปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มอบธงกีฬา ธงนำกีฬานักเรียน และธงนำกีฬาประชาชนแก่กรมพลศึกษา การแข่งขันตะกร้อข้ามตาข่าย ก็ได้จัดให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปีนี้
ปี พ.ศ. 2480 ได้จัดให้มีการแข่งขันเป็นปีสุดท้ายที่ท้องสนามหลวง
ปี พ.ศ. 2481 กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาประจำปี ในกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นครั้งแรก ลักษณะของสนามมีอัฒจันทร์ไม้ล้อมรอบหรือที่เรียกว่า "สนาม 1-2" ในการดำเนินการแข่งขันในครั้งนี้ได้จัดสร้างลู่ทางวิ่ง การจับเวลาให้เป็นไปอย่างการแข่งขันกรีฑาสากลนิยมซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดการแข่งขันในกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นครั้งแรกนอกจากนั้นในการแข่งขันบาสเกตบอล ฟุตบอล ตะกร้อ ฯลฯ ซึ่งเคยแยกไปแข่งขันตามสนามโรงเรียนต่างๆนั้น กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันในกรีฑาสถานแห่งชาติทุกประเภท ส่วนการแข่งขันกรีฑานั้นได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาประชาชนหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
ปี พ.ศ. 2483 ได้เปิดให้มีการแข่งขันหมากรุกฝรั่งขึ้น
ปี พ.ศ. 2484 ทางกรมพลศึกษาได้จัดปรับปรุงสนามแข่งขันด้านต่างๆอีกทั้งยังได้พิจารณาปรับปรุงกติกากรีฑาให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม ทั้งในแง่ของเครื่องมือและการแต่งกายของกรรมการ นับว่าเป็นแบบฉบับที่ดีจนเป็นพื้นฐานที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ปี พ.ศ. 2485 ได้งดจัดการแข่งขันเนื่องจากมีอุทกภัยครั้งใหญ่ ตุลาคม แต่ก่อนนั้นกระทรวงได้สั่งการใหกรมพลศึกษานำนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆไปแสดงกายบริหารที่ท้องสนามหลวง มีนักเรียนแสดงทั้งหมด 4,000 คน(ในเดือนมิถุนายน)
ปี พ.ศ. 2486 งดจัดการแข่งขันเพราะเกิดภาวะสงครามแต่หน่วยทหารญี่ปุ่นและทหารไทยได้ขอใช้สนามแข่งขันเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีอยู่ เนืองๆและในราวปลายปีก็ให้มีการแข่งขันจักรยาน 2 ล้อทางไกลระหว่างประชาชนจากกรีฑาสถานแห่งชาติถึงตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
ปี พ.ศ.2487 สงครามทวีความรุนแรง ไม่ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาและกรีฑาใดๆ
ปี พ.ศ. 2488 สงครามสงบ ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม กรมพลศึกษาเห็นว่าพอจะดำเนินการแข่งขันกีฬาได้ จึงจัดให้มีการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้สมาคมรักบี้ฯสมาคมฟุตบอลแห่งสยามฯได้เช่าสนามเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาประจำปี
ปี พ.ศ. 2489 กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬากรีฑานักเรียนทุกประเภทต่อไปตามเดิม มีนักเรียนให้ความสนใจพอสมควร
การจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนได้ดำเนินการแข่งขันเป็นประจำทุกๆปีติดต่อกัน ส่วนมากจัดการแข่งขันระหว่างเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม
ปี พ.ศ. 2511 มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนโดยกรมพลศึกษาได้มีหนังสือถึงจังหวัดต่างๆ เชิญชวนให้จังหวัดจัดส่งนักกีฬาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนไม่เกิน ม.ศ.- 3 อายุไม่เกิน 20 ปี เป็นการยกระดับการแข่งขันและเป็นการพัฒนาของด้านสถิติด้วย
ปี พ.ศ. 2512 การแข่งขันกรีฑานักเรียนได้จัดพร้อมกับงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ซึ่งเรียกชื่อรวมกันว่างานกรีฑาศิลปหัตถกรรมของนักเรียน
จนถึงปัจจุบันนี้การกีฬาของไทยได้มีวิวัฒนาการมาโดยตลอดและมิอาจจะปฏิเสธได้และว่ากรีฑานักเรียนเป็นส่วนช่วยให้การกีฬาของประเทศไทยมีการเจริญเติบโตขึ้นทัดเทียมประเทศต่างๆจะสังเกตจากการแข่งขันทุกครั้งมีการทำลายสถิติใหม่อยู่เสมอ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ละเอียดมาก