๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

วันสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์

วันตรุษจีน"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้
ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ"

ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย

ตรุษจีน คำอวยพรที่ใช้กันมาก
?ซิน เจีย ยู่ อี่ ซิน นี้ ฮวด ไช้?
คำอวยชัยให้พร ให้โชคดีปีใหม่
ซิน หรือ ซิง แปลว่า ใหม่
เจีย แปลว่า เวลา
ยู่อี่ แปลว่า สมใจ สมปรารถนา
นี้ แปลว่า ปี
ฮวดใช้ แปลว่า โชคดี
?ซินเจียยู่อี่ สี่ขุ่ยเฮงล้ง?
เวลาใหม่ให้สมใจ สี่ฤดูให้อยู่สบายโชคดี



เทศกาลจีนมีอยู่มากมาย ตรุษจีนเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ทุกคนต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่างหยุดงาน โรงเรียนสถาบันการศึกษาต่างปิดเทอมในช่วงนี้ เป็นปิดเรียนฤดูหนาว ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่ไม่สามารถหยุดงานได้ หน่วยงานห้างร้านต่างก็หยุดงาน 3-4 วัน เมื่อใกล้วันปีใหม่จีน ผู้คนต่างก็มีการตระเตรียมงานปีใหม่ ภายในครอบครัว ทุกบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านเรือน ผ่านปีใหม่อย่างสะอาดสะอ้านสดใส ร้านค้าห้างสรรพสินค้าต่างก็เติมไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้แก่เด็กๆ ซื้อของขวัญให้แก่ญาติสนิทมิตรสหาย ซื้อบัตรอวยพร ในตลาดก็คราคร่ำไปด้วยผู้คน ต่างเดินไปเดินมากันขวักไขว่ ซื้อปลาบ้าง ซื้อเนื้อสัตว์บ้าง ซื้อเป็ดไก่บ้าง ทุกคนต่างดูแจ่มใสมีความสุข ช่วงเทศกาลปีใหม่ เด็กๆต่างมีความสุขมาก ต่างสวมเสื้อใหม่ ทานลูกกวาดขนมหวาน เล่นพลุประทัดอย่างรื่นเริง

ตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน
สมัยโบราณในยุคราชวงศ์ต่างๆ นับช่วงพ้นปีเก่าเข้าปีใหม่แตกต่างกันไป กระทั่งปี 105 B.C. ฮั่นอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นปรับเปลี่ยนระบบปฏิทินใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรียกว่า ปฏิทินไท่ชูลี่ ปฏิทินไท่ชูลี่ ปรับปรุงขึ้นจากระบบปฏิทินของราชวงศ์เซี่ย (21-16 ศตวรรษ B.C.) ถือเอาวันแรกของปักษ์ลี่ชุน เป็นวันขึ้นปีใหม่

ชาวจีนนับเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่มา 2010 ปีแล้ว วันตรุษจีนหรือปีใหม่นี้ จีนโบราณเรียกว่า กั้วเหนียน ผ่านปีหรือ หยวนตั้น ? ขึ้นปีใหม่

เทศกาลตรุษปีใหม่หรือตรุษวสันต์นี้ เดิมเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ นักวิชาการเริ่มวิเคราะห์จากคำว่า ?เหนียน? 年ซึ่งปัจจุบันแปลว่า ปี เทศกาลตรุษจีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ?กั้วเหนียน?

ในสมัยโบราณ (ก่อนราชวงศ์โจว) เหนียน หมายถึง รอบการเจริญเติบโตของธัญพืชรอบหนึ่ง ธัญพืชสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว และ/หรือหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูก ดังนั้น คำว่า ?กั้วเหนียน? เดิมทีมิได้หมายถึงการสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ แต่หมายความว่า ในปีนั้นๆ เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์

โดยทั่วไปแล้ว การเพาะปลูกในตงง้วนจะเก็บเกี่ยวกันตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูหนาวคือช่วงระยะล่าสัตว์ เมื่อเราย้อนกลับไปดูการกำหนดเดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ในปฏิทินโบราณทั้ง 4 ระบบ จะเห็นว่าก๊กเซี่ย ขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนมกราคม ก๊กซางขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนธันวาคม ก๊กโจวขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ก๊กฉินขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนตุลาคม ที่ต่างกันดังนี้ อาจเนื่องมากจากความแตกต่างของฤดูกาล
เทศกาลปีใหม่มีขึ้นอย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียงกัน หลังจากจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ประกาศใช้ปฏิทินไท่ชูลี่ เมื่อค.ศ. 105 แล้ว ดังนั้น อาจกล่าวว่า เทศกาลปีใหม่จีนหรือตรุษจีนเริ่มกำหนดอย่างเป็นทางการในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้ ในส่วนคติชาวบ้านก็มีนิทานพื้นบ้านอธิบายว่าทำไมจึงเรียกเทศกาลตรุษวสันต์ว่า ?กั้วเหนียน? เช่นกัน ดังนี้ ในรัชสมัยของจู๋อี่ โอรสสวรรค์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ซาง มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ว่านเหนียน 万年เห็นว่าการประกาศปฏิทินกำหนดฤดูกาลของราชสำนักมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพภูมิอากาศที่เป็นจริง อันก่อผลเสียหายแก่การกสิกรรมและการปศุสัตว์มาก ว่านเหนียนจึงพากเพียรพยายามติดตามศึกษาดาราศาสตร์ ศึกษาเงาตะวันจากนาฬิกาแดด เป็นต้น จนกระทั่งทราบต้นตอที่มาของความผิดพลาด การคำนวณปฏิทินแบบเดิม

ขณะนั้นโอรสสวรรค์จู่อี่เอง ก็ทรงร้อนพระทัยห่วงใยที่การกำหนดฤดูกาลไม่แม่นยำ แต่ทว่าอาเหิง อำมาตย์ผู้ควบคุมการคำนวณฤดูกาลไม่ยอมรับว่าตนด้อยความรู้ความสามารถ กลับเสนอจู่อี่ว่า การที่ฤดูกาลไม่ตรงกับที่ได้คำนวณกำหนดไว้นั้น เนื่องมาจากพลเมืองกระทำมิดีผิดผีลบลู่เทพยดาฟ้าดิน

โอรสสวรรค์จักต้องก่อสร้างหอมหึมาแล้วนำอำมาตย์ทั้งมวลขึ้นไปบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินพร้อมกัน จู๋อี่ ทรงเชื่อตามที่อาเหิงเสนอ จึงทรงสั่งให้เก็บส่วยจากพลเมืองในแคว้น เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบวงสรวงฟ้าดิน ฝ่ายว่านเหนียนเห็นว่าการทำเช่นนี้ มิอาจแก้ปัญหาอันใดได้เลย รังแต่จะเพิ่มความทุกข์ยากลำบากต่อราษฎรเป็นทวีคูณ ว่านเหนียนจึงขอเข้าเฝ้าจู๋อี่ แล้วอธิบายสาเหตุที่การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้จู๋อี่ฟัง

จู๋อี่ทรงยอมรับหลักการของว่านเหนียน จึงระงับพิธีบวงสรวงนั่นเสีย แล้วสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียนใช้ทำงานค้นคว้า อาเหิงแทนที่จะดีใจที่วิทยาการจะก้าวหน้าขึ้น แกกลับอิจฉาริษยาว่านเหนียน เกรงว่าหากว่านเหนียนปรับปรุงปฏิทินสำเร็จ ตนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งขุนนาง อาเหิงจึงว่าจ้างมือสังหารไปฆ่าว่านเหนียน แต่เนื่องจากว่านเหนียน ทำงานในหอดาราศาสตร์ทั้งกลางวันกลางคืน ภายนอกหอก็มีทหารพิทักษ์รักษาเวรยาม มือสังหารจึงหาโอกาสฆ่าว่านเหนียนไม่ได้สักที กาลผ่านไปเนิ่นนาน มือสังหารจึงตัดสินใจใช้ธนูลอบยิง ว่านเหนียนถูกธนูที่แขน แต่คนร้ายเองที่ถูกจับนำไปสอบสวนต่อหน้าจู๋อี่ เมื่อความลับเปิดเผยขึ้น อาเหิงจึงถูกประหาร

ในคืนวันนั้นจู๋อี่ก็เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียนที่หอดาราศาสตร์ เมื่อไปถึงว่านเหนียนได้พูดว่า ?ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังผ่านพ้น วสันตฤดูกำลังเริ่มต้น ขอพระองค์จงทรงตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด จู๋อี่ จึงทรงตั้งชื่อวันนั้นว่า ตรุษวสันต์ แล้วทรงชวนว่านเหนียนไปพักรักษาตัวในราชวัง แต่ว่านเหนียนยืนหยัดที่จะทำงานในหอดาราศาสตร์ต่อไป

กาลเวลาผ่านไปอีกสามปี ว่านเหนียนจึงปฏิรูประบบปฏิทินเสร็จสมบูรณ์ แต่ทว่าบัดนี้ ว่านเหนียนผู้แต่เดิมยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ได้เปลี่ยนเป็นชายชราผมขาวโพลน โอรสสวรรค์จู๋อี่ทรงประทับพระทัยในอุตสาหะวิริยะของว่านเหนียน จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า ?ปฏิทินว่านเหนียน? (ว่านเหนียนลี่) และทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็นเทพแห่งอายุวัฒนะ นี่เองคือต้นตอที่ชาวบ้านจีนเรียกตรุษวสันต์ว่า ?กั้วเหนียน?และในเทศกาลนี้ชาวบ้านก็มักนิยมแขวนภาพ ?เทพแห่งอายุวัฒนะ? (โส้วซิง) เพื่อรำลึกถึงคุณูปการความดีงามและคุณธรรมของ ?ว่านเหนียน? นั่นเอง....

คืนก่อนวันปีใหม่
คือวันสุดท้ายของปีนั่นเองเป็นคืนที่ครึกครื้นที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิด ต่างก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะกลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน ตอนกินอาหารมื้อค่ำคืนก่อนขึ้นปีใหม่จีน ทุกคนในครอบครัวต่างนั่งกันพร้อมหน้าล้อมโต๊ะอาหาร ต่างชนแก้วอวยพรปีใหม่กัน ทานมื้อค่ำเรียบร้อยแล้ว บางคนก็ดูทีวี บางคนก็ฟังเพลง บางคนก็นั่งคุยกัน บางคนก็เล่นหยอกล้อกับเด็กๆ บ้านเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ พอถึงเที่ยงคืน คนจีนทางเหนือก็จะเริ่มทำเกี๊ยว (เจี้ยวจึ) คนจีนทางใต้ ก็จะปั้นลูกอี๋ทำน้ำเชื่อม ทำไป ชิมไปทานไป ครึกครื้นอย่างยิ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นแต่เช้า ทุกคนจะตื่นแต่เช้า เยี่ยมเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงอวยพรปีใหม่

ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้ว กับการฉลองวันปีใหม่จีนหรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ นั้นเอง

ตรุษจีนนั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น

วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง


เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ในวันตรุษนี้ อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลองวันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน



วันนักประดิษฐ์ (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี)


คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันนักประดิษฐ์" มีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) ทำหน้าที่รับผิดชอบ ในการดำเนินงาน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางประสาน กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดกิจกรรมงาน "วันนักประดิษฐ์" ทุกปี ความเป็นมาของ "วันนักประดิษฐ์" นั้น มีขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ กังหันชัยพัฒนา และทรงได้รับการ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึง วันประวัติศาสตร์ ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลก




ที่ทรงคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นแบบฉบับให้ แก่นักประดิษฐ์ไทย ได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ปัจจุบัน การประดิษฐ์คิดค้นได้รับการยอมรับว่า เป็น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างสถานะ ทางเศรษฐกิจของประเทศ สร้างสรรค์เทคโนโลยี ที่ทันสมัย นำไปสู่ การพัฒนาประเทศโดยที่ประเทศไทย มีประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอยู่ในหน่วยงานทั้งของ ภาครัฐและเอกชน ที่มีความรู้ ความสามารถและสนใจที่จะดัดแปลง หรือคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับ สภาวะ ของ ประเทศ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถพัฒนาไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ อย่างแท้จริง จึงทำให้นักประดิษฐ์ขาดกำลังใจในการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ส่วนรวม วันนักประดิษฐ์ จึงมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการประดิษฐ์ ของนักประดิษฐ์ทั้งหลาย ตลอดจนเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจการประดิษฐ์ เพื่อประสานความร่วมมือ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นในประเทศ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังเป็นส่งเสริมการประดิษฐ์ของคนไทยให้ก้าวหน้ามั่นคงต่อไป

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนักประดิษฐ์

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก
เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทยให้เป็นที่รู้จัก
เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้น
เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักประดิษฐ์เยาวชนและประชาชนทั่วไปในอันที่จะแสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน เพื่อจะได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น
เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์ที่มีความสามารถ และนำผลงานของนักประดิษฐ์ออกเผยแพร่ใช้งานได้อย่างจริงจัง
การจัดกิจกรรมในงานวันนักประดิษฐ์ ประกอบด้วย

นิทรรศการและการแสดงผลงาน สิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปภาพ โปสเตอร์ การฉายวิดีโอ และแสดงสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์
การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
การจัดประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ประเภททั่วไปและนักเรียน
ให้คำแนะนำและบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิบัตร
ให้คำแนะนำการสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยด้านทุนอุดหนุน การวิจัยและรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานนักวิจัยยอดเยี่ยม และรางวัลผลงานนักประดิษฐ์คิดค้น
การเผยแพร่ความรู้ทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในงานวันนักประดิษฐ์ นับได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นในประเทศอย่างกว้างขวาง และเป็นกำลังใจให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคต