๒๐ มกราคม ๒๕๕๑

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย

วันขึ้นปีใหม่



--------------------------------------------------------------------------------

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการฉลองเทศกาลตลอดทั้งปี ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธและพราหมณ์ กาลเวลาผ่านไป เทศกาลต่าง ๆ ก็ถูกดัดแปลงให้สอดคล้องกับสากลนิยม

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย โบราณมาเราถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต้องด้วยพระพุทธศาสนา ถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี สมัยโบราณวันขึ้นปีใหม่ ถือคติพราหมณ์ ใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2432 แห่งรัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้เนื่องจากทางราชการนิยมใช้หลักสุริยคติ แต่ยังคล้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และเริ่มใช้เมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ.2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายน ถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินสากล ประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

การใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้ในนานาประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก แต่ก็ไม่สำคัญเท่าที่เราได้ฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีไทยแต่โบราณกาล ซึ่งเราได้ละทิ้งเสียโดยอิทธิพลของพราหมณ์กลับมาใช้ใหม่

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย ทั้งในส่วนเกี่ยวข้องกับชาติของเราเอง และทางสัมพันธ์กับชาติที่เจริญแล้วทั้งหลาย ไทยจึงถือวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยจวบจนทุกวันนี้

แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นกัน

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนชาวไทยจะมีงานรื่นเริง และมหรสพ ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึงวันที่ 1 มกราคม มีการจัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่ มีการแลกบัตรอวยพรและของขวัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน และบุคคลสำคัญ ในช่วงเช้าของวันที่ มกราคม ประชาชนก็จะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่รับพร และอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อความสุขความเจริญ มีการจัดกิจกรรมเพื่อการกุศลที่จัดให้มีขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ในขณะเดียวกัน หลายๆ บริษัทก็จะถือเอาโอกาสนี้แจกโบนัสและประกาศเลื่อนขั้นพนักงาน

จะเห็นได้ชัดว่า คนไทยจะฉลองวันขึ้นปีใหม่ 3 ครั้งต่อปีเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ วันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีหรือวันสงกรานต์ วันที่ 1 มกราคม และวันตรุษจีน ใน 3 วันนี้ วันสงกรานต์เป็นโอกาสที่สนุกสนานที่สุด เพราะว่าประชาชนจากทุกสาขาอาชีพต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมฉลองเป็นเวลานับสัปดาห์ ในขณะที่วันตรุษจีนก็มีความสำคัญเท่า ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วันหยุดของทางราชการ บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ก็จะหยุดดำเนินธุรกิจเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้ทั้งนายจ้างและพนักงานได้เข้าร่วมฉลองโอกาสอันเป็นมงคลนี้ร่วมกับญาติ ๆ ที่บ้านหรือไม่ก็ใช้วันหยุดตามสถานที่ที่ตนพอใจ

ไม่มีความคิดเห็น: