๒๐ มกราคม ๒๕๕๑
วันกองทัพไทย
ประวัติ
สาเหตุที่กำหนดให้ วันที่ 18 มกราคม (เริ่มต้นในปี 2550 เดิมเป็นวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี) เป็นวันกองทัพไทยนั้น เนื่องจากเป็นวันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จอมทัพไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อ สมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งพม่า และผลแห่งชัยชนะในครั้งนั้น ทำให้ข้าศึกไม่กล้าเข้ามารุกรานไทยทุกทิศทาง เป็นเวลาถึง 150 ปี
เมื่อกรุงหงสาวดีของพม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่พระเจ้าบุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา ทางพม่าได้แจ้งข่าวการเปลี่ยนรัชกาลไปยังประเทศราชทั้งปวง โดยให้ผู้ปกครองประเทศราชไปเฝ้าตามประเพณี ในครั้นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดปรานให้พระนเรศวรราชโอรสเสด็จขึ้นแต่เมื่อเสด็จถึงเมืองแครง บังเอิญทรงทราบถึงแผนการของพม่าที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากบุคคลสำคัญทางมอญหลายคนที่สนิทสนมคุ้นเคยได้ลอบทูลก่อนที่พระองค์จะเสด็จถึงเมืองพม่า
ด้วยเหตุนี้ พระนเรศวรจึงทรงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ในปีพ.ศ. 2127 แยกราชอาณาจักรศรีอยุธยาออกเป็นอิสรภาพจากพม่า แล้วจึงยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีไปรบพุ่งมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว จวนใกล้จะยกทัพกลับคืนพระนคร พระนเรศวรทรงเห็นว่าการจะตีเมืองหงสาวดีในครั้งนี้คงไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันไปบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนเอาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ให้อพยพกลับ ได้ครอบครัวกลับมาตุภูมิเดิมถึง 10,000 เศษ ฝ่ายอุปราชาได้ทราบข่าวจึงยกมาเป็นทัพหลวง ยกติดตามพระนเรศศวรมา โดยให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า ครั้นกองหน้ามาถึงแม่น้ำสะโตงเมื่อพระนเรศวรยกข้ามฟากมาได้แล้ว จึงยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำ พระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว 9 คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นว่านายทัพตายก็พากันครั่นคร้ามเลิกทัพกลับไป
พระแสงปืนซึ่งพระนเรศวรยิงถูกสุรกรรมาดับชีพในคัร้งนั้นได้มีนามปากกาปรากฎว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินสืบมาตราบจนถึงกาลปัจจุบันนี้ ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน วันอาทิยต์ ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงได้เสร็จยาตราทัพออกจากกรุงหงสาวดี เพื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระอุปราชาอยู่รักษาพระนคร พระนเรศวรทรงทราบว่าพม่ายกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ใหญ่หลวงนัก จึงตรัสให้รวบรวมเสบียงอาหารและไพร่พลฉกรรจ์จากหัวเมืองเข้าพระนคร แม้กองทัพใหญ่ฝ่ายพม่าจะยกเข้าโจมตีพระนครเป็นหลายครั้งก็หาสำเร็จไม่ จึงตั้งล้อมกรุงไว้เป็นเวลา 4 เดือน เห็นว่าไม่มีทางเอาชนะไทยได้ ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสน และไข้รุม จึงต้องยกทัพกลับ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2130 ในศึกครั้งนั้น พระนเรศวรออกรบอย่างกล้าหาญ และปลอมพระองค์จะเข้าค่ายพระหงสาวดี โดยเสด็จลงจากหลังม้าทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารปีนระเนียด (ปีนค่าย) แต่ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ พระแสงดาบซึ่งทรงในวันนั้นจึงปรากฏนามว่า "พระแสงดาบคาบค่าย"
ครั้นถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สองวีรกษัตริย์ไทย คือ สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถได้เข้าตีกองทัพหน้าของพม่าที่ยกมาครั้งใหม่แตกหนีอลหม่าน ขณะนั้นเองช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ กับช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างตกมันทั้งคู่ ได้ไล่ตามพวกข้าศึกไปอย่างเมามันทำให้กองกำลังทหารไทยตามไม่ทัน สองวีรกษัตริย์ไทยเข้าไปอยู่กลางวงล้อมของเหล่าข้าศึก มีแต่จตุรงคบาทและพวกทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน เมื่อพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชธารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบว่าได้ถลำเข้ามาจนถึงกลางกองทัพของปัจจามิตรแล้ว แต่พระองค์ทรงมีสติมั่นไม่หวั่นไหวจึงไสช้างเข้าไปใกล้แล้วตรัสไปโดยฐานคุ้นเคยกันมาก่อนทั้งในวัยเยาว์และวัยเติบใหญ่ว่า "เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราจะไม่มีอีกแล้ว"
ด้วยความมีขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาจึงไสช้าง พลายพัธกอ ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพซึ่งกำลังตกมัน เมื่อเห็นข้าศึกตรงออกมาท้าทายก็โถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เลยพลาดท่าทำให้พลายพัธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทันเลยถูกแต่พระมาลาหนังขาดวิ่นไป พอดีกับเจ้าพระยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับได้ล่างแบกรุนพลายพัธกอหันเบนไปบ้าง สมเด็จพระนเรศวรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่อังสะขวา (ไหล่ขวา) ขาดสะพายลงมา ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง
ส่วนสมด็จพระเอกาทศรถได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปาโรขาดสะพายแล่งตายคาคอช้างเช่นกัน พวดท้าวพระยาเมืองหงสาวดี เห็นเจ้านายเสียทีต่างก็กรูกันเข้ามาช่วย ใช้ปืนระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ พอดีขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยตามมาทัน จึงเข้ารบพุ่งแก้เอาจนจอมทัพไทยออกมาได้ ฝ่ายกรุงหงสาวดีก็เลิกทัพกลับไป
พระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประหารพระมหาอุปราชาครั้งนั้น ได้นามต่อมาว่า "พระแสงแสนพลพ่าย" และพระมาลาที่ถูกฟันปรากฏนามว่า "พระมาลาเบี่ยง" นับเป็นเครื่องมงคลราชูปโภคมาจนบัดนี้ ส่วนช้างศึกที่ชนะก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"
เดิมนั้นกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น